วันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561


                                            การศึกษาก้าวไกลสู่เส้นชัยยุคโลกาภิวัตน์
----------------------------------------------------------------------------------


ปัจจุบันโลกเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่นั่นก็คือ  ยุคโลกาภิวัตน์”  ส่วนสำคัญในยุคนี้คือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีความล้ำสมัยมากยิ่งขึ้น ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวไกลออกไปอย่างไร้พรมแดนมนุษย์ในโลกนั้นต้องเป็นผู้ที่สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาเสริมสร้างให้ตนเองนั้นมีวิธีการสื่อสารและมีความสามารถในการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดมากยิ่งขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์นี้  นอกจากวิถีชีวิตของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปก็ยังมีสิ่งต่างๆหลายด้านที่เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย หลายๆฝ่ายจึงต้องหันมาให้ความสำคัญและให้ความสนใจ โดยเฉพาะการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์ ผู้สอนจะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนรู้แก่ผู้เรียนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ วิธีการสอนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้สอนต้องสามารถใช้จัดการชั้นเรียนได้อย่างหลากหลายเพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนแต่ละบุคคล ซึ่งวิธีการสอนที่เหมาะสมในยุคโลกาภิวัตน์นั่นคือวิธีการสอนแบบ Active Learning โดยเน้นให้ผู้เรียนเกิดทักษะการคิด วิเคราะห์จากกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นหลัก ในปัจจุบันมีวิธีการจัดการชั้นเรียนอย่างมากมายที่ผู้สอนสามารถนำไปบูรณาการปรับใช้ในชั้นเรียนให้มีความเหมาะสมกับสภาพในแต่ละชั้นเรียนได้มากยิ่งขึ้น 
จากการที่คณะผู้จัดทำได้ไปทัศนศึกษางานมหกรรม ๑๐๐ ปี การศึกษาเอกชน ปี ๒๕๖๑ ระดับ ๑๔ จังหวัดภาคใต้ได้พบวิธีการสอนที่น่าสนใจ คือ วิธีการสอนแบบสาธิต(Demonstration)  วิธีการสอนแบบการแสดงละคร(Dramatization)  และวิธีการสอนโดยการเรียนรู้ด้วยตนเอง(Self Study

       วิธีการสอนแบบสาธิต (Demonstration) คือวิธีการสอนที่ครูมีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนการสอนคือ ครูจะต้องเป็นผู้ที่ลงมือปฏิบัติ หรือสาธิตในสิ่งที่ต้องการให้นักเรียนได้เรียนรู้ โดยในระหว่างการสาธิตนั้นสามารถเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ซักถามในสิ่งที่สนใจหรือสงสัย ก่อนที่จะให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง  จากการสัมภาษณ์ครูเปิ้ล หรือคุณครูปัญศิลา จันทร์สุรางค์ ซึ่งเป็นอาจารย์สอนประจำโรงเรียนการอาชีพเรือสำราญและการโรงแรม โดยมีเนื้อหาจากบทสัมภาษณ์มีดังนี้  

ที่โรงเรียนมีการดำเนินการจัดการเรียนการสอนแบบสาธิตอย่างไรคะ 

“หลักสูตรของเราเป็นหลักสูตรระยะสั้น ๘ เดือน เป็นการศึกษาแนวใหม่นักเรียนจึงต้องเรียนในส่วนของทฤษฎีและปฏิบัติในทางทฤษฎีนักเรียนจะเรียนในส่วนของภาษาอังกฤษที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันในเรื่องของการทำงานในเรือ ส่วนในเรื่องของการปฏิบัติก็จะเรียนเรื่องของการทำค็อกเทล กาแฟสด ไวน์ การจัดโต๊ะอาหารหรือการบริการในห้องอาหารทั้งหมดค่ะ”  

คุณครูมีวิธีการสอนแบบการสาธิตอย่างไรบ้างคะ 

“โดยปกติที่โรงเรียนจะเรียนโดยใช้ภาษาอังกฤษและการลงมือปฏิบัติเป็นหลัก เด็กนักเรียนจะได้สัมผัสจากการชงจริงๆ ใช้วัตถุดิบจริงๆ  โดยมีอาจารย์ที่ชำนาญการระดับประเทศ คืออาจารย์ธนบรรณ ซึ่งเราได้เชิญมาเป็นผู้บริหารของโรงเรียน และท่านเองก็เป็นอาจารย์ผู้สาธิตบทเรียนต่างๆในชั้นเรียนด้วยค่ะ”  

ผลตอบรับที่ได้รับจากการสอนแบบสาธิตเป็นอย่างไรบ้างคะ 
“เรียกว่าสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ว่าได้ค่ะ เพราะจริงๆแล้วหลักสูตรของเราเป็นหลักสูตรระยะสั้นการให้เด็กได้สัมผัส หรือให้เด็กทำจริงๆ ซึ่งเขาอยู่กับเราแค่ ๒ เดือน เดือนที่ ๓ ๖ เด็กต้องไปฝึกงานในโรงแรม ๕ ดาวแล้ว หมายถึงว่า เด็กต้องมีวิชามากพอสมควรที่จะต้องลงไปปฏิบัติงานจริงเด็กก็ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์การฝึกงานตอน๖ เดือน”  

เมื่อสำเร็จการศึกษาสามารถทำงานได้ที่ไหนบ้างคะ  

“ที่นี่ก็ตรงตัวอยู่แล้วนะคะว่าเราจะส่งนักเรียนลงทำงานในเรือสำราญและโรงแรมห้าดาว ขั้นตอนไม่ได้มีอะไรมากถ้าเกิดว่าน้องๆเรียนแล้วทำครบกระบวนการของโรงเรียน คือ หนึ่งจะได้ในส่วนของการเรียนครบ ๒ เดือน และฝึกงานครบ ๖ เดือน ได้ประกาศของโรงเรียน SCOT ๑ ใบ และได้ใบประกอบของโรงแรมห้าดาวอีกหนึ่งใบรวมแล้ว ๒ ใบ  โรงเรียนก็จะพาเด็กลงไปสอบยังบริษัทเรือสำราญซึ่ง Contact กันไว้แล้ว ๒๗ บริษัท ก็เลือกเอาว่าจะไปน่านน้ำไหนจะไปน่านน้ำฝั่งเอเชียก็จะมีค่าตอบแทนเป็นเงินเหรียญ เทียบเป็นเงินไทย ๓๔,๐๐๐บาท แต่ถ้าเด็กได้ฝั่งยุโรปค่าตอบแทนประมาณ ๖๐,๐๐๐บาท ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมทิปนะคะ”



การสาธิตการทำค็อกเทล





ผู้สัมภาษณ์และผู้ให้สัมภาษณ์การสอนแบบสาธิต














วิดีโอสัมภาษณ์การสอนแบบสาธิต


     ในปัจจุบันนักเรียนจะเรียนเกี่ยวกับเนื้อหาสาระวิชาต่างๆโดยนักเรียนจะเรียนรู้จากการฟังบรรยายเพียงอย่างเดียวซึ่งจะทำให้เกิดความน่าเบื่อและไม่เกิดประสิทธิภาพในการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ค่อยได้ฝึกการลงมือปฏิบัติจริง หรือไม่ได้เรียนรู้ในสถานการณ์จริง โดยการที่ให้นักเรียนได้มีบทบาทในการเรียนรู้อย่างเต็มอย่างเช่น การสอนโดยใช้การแสดงละคร ซึ่งผู้เรียนได้ลงไปเล่นได้รับบทบาทสมมติของตัวละคร ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงอย่างเต็มที่ตามความเข้าใจของผู้เรียน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้ซึมซับบทบาทพฤติกรรมของตัวละคร และจะมีการอภิปรายร่วมกันระหว่างครูและผู้เรียนเพื่อสรุปความรู้ที่ได้รับ ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจและจดจำเรื่องราวของตัวละครในเนื้อเรื่องได้ดีขึ้น

วิธีสอนโดยใช้การแสดงละคร(Dramatization)   คือ กระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิด การเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ โดยการให้ผู้เรียนแสดงละคร ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามเนื้อหาและบทละครที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง ทำให้เรื่องราวนั้นมีชีวิตขึ้นมา และสามารถทำให้ทั้งผู้แสดงและผู้ชมเกิดความเข้าใจและจดจำเรื่องนั้นได้นาน  จากการสัมภาษณ์คุณครูพัฒน์นรี คงเพชร์ ซึ่งเป็นคุณครูประจำโรงเรียนอนุบาลชุลีกร โดยมีเนื้อหาจากบทสัมภาษณ์มีดังนี้                       คุณครูนำวิธีการสอนแบบการแสดงละครไปใช้ในการสอนอย่างไรบ้างคะในห้องเรียน 
ถ้าเป็นในเรื่องของวิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ปกติเด็กจะไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องของวรรณคดีในเรื่องของตัวละคร จะมีการจำลองเหตุการณ์หรือจำลองเรื่องราวโดยให้เเต่งเป็นตัวละคร การเเต่งเป็นตัวละครจะมีการประยุกต์นำเอาวัสดุรอบตัว เช่น ใช้ผ้าขาวม้ามาแต่งตัวและแสดงบทบาท เพื่อให้เด็กจำตัวละครนั้นได้ง่ายปะติดปะต่อเรื่องได้ง่ายมากกว่าการอ่านด้วยกลอนเพียงอย่างเดียว  
ครูมีบทบาทอย่างไรบ้างคะ 
ครูมีบทบาทในการชี้แนะ พูดในเรื่องของกรอบเรื่องตัวละคร ส่วนการดำเนินเรื่องครูจะอ่านให้เด็กเข้าใจในตัวเรื่องก่อน จะมีการทดสอบความเข้าใจ แล้วจะให้อิสระกับเด็กได้เลือกว่าจะเป็นตัวละครอะไร จากการสะท้อนความคิดของตัวละครจากเนื้อเรื่อง   
มีวิธีการดำเนินการสอนอย่างไรบ้างคะ 
พูดคุยอภิปรายว่าเราจะมีตัวละครอะไรบ้าง เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ผลสุดท้ายของตัวละครเป็นอย่างไร และอภิปรายสรุปผลร่วมกัน   
บรรยากาศในห้องเรียนเป็นอย่างไรบ้างคะ คุณครูมีวิธีจัดการกับเด็กพิเศษอย่างไรบ้าง 
ครูต้องสังเกตอารมณ์ของนักเรียนก่อน บางวิชาที่เนื้อหาสาระเยอะเกินไป อ่านอย่างเดียวเด็กก็จะเบื่อ ครูต้องหาแรงกระตุ้น เช่น สร้างสถานการณ์จำลองให้เด็กได้มีส่วนร่วมทุกคน และเด็กพิเศษ ครูจะสอนให้อยู่กันแบบพี่แบบน้อง จะไม่มีการแบ่งแยกคนเก่ง คนไม่เก่ง ทุกคนจะเท่าเทียมกัน 
 คุณครูนำสื่อนวัตกรรมมาใช้อย่างไรบ้างคะในการจัดการเรียนการสอน  
จะนำสื่อนวัตกรรมมาใช้ในทุกหมวดวิชา ภาษาไทย คณิตศาสตร์ เด็กเล็กๆจะต้องอาศัยการเรียนรู้ได้เห็น ได้ลงมือทำ เพื่อเกิดการเรียนรู้ได้จริง จำได้นาน



การสอนแบบแสดงละคร




การสอนแบบแสดงละคร


วิดีโอสัมภาษณ์การสอนแบบแสดงละคร



นอกจากวิธีการสอนที่ผู้สอนมีบทบาทเป็นหลักในการจัดการเรียนรู้แล้วก็ยังมีวิธีการสอนที่ผู้เรียนมีบทบาทเป็นหลักในการจัดการเรียนรู้ด้วยเช่นกันนั่นก็คือ วิธีการสอนโดยการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self Study)
วิธีการสอนโดยการเรียนรู้ด้วยตนเอง(Self Study)   คือ กระบวนการการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีความคิดริเริ่มในการวิเคราะห์ความต้องการของตนเองในการที่จะศึกษาหาความรู้ โดยที่ผู้เรียนเป็นผู้กำหนดเป้าหมายรวมไปถึงประเมินผลการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อทำให้ผู้เรียนเกิดทักษะและประสบการณ์ในการเรียนรู้และแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข จากการสัมภาษณ์คุณครูพัฒน์นรี คงเพชร์  ซึ่งเป็นคุณครูประจำโรงเรียนอบุบาลชุลีกร (มอนเทสซอรี่)  โดยเนื้อหาจากบทสัมภาษณ์มีดังนี้   
ขั้นตอนที่ใช้สำหรับการสอนโดยการเรียนรู้ด้วยตนเองมีอะไรบ้างคะ  
โรงเรียนชุลีกรจะมีนวัตกรรมในการสอนที่เรียกว่ามอนเทสซอรี่ จะเห็นได้ว่าทุกอย่างที่เด็กได้ทำจะเป็นรูปธรรมเป็นสิ่งที่เด็กสามารถจับต้องได้ก่อน โดยอาจารย์จะทำการฝึกเด็กตั้งแต่เด็กอนุบาล ดังจะเห็นว่าทุกชั้นเรียนของเราจะมีอุปกรณ์การเรียนรู้หมดเลยซึ่งจะทำให้เด็กจดจำรูป ก่อให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง จากนั้นเมื่อเด็กจดจำรูปที่เป็นรูปธรรมได้ก็จะเชื่อมต่อไปสู่นามธรรมในชั้นประถมซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบเน้นการสัมผัสและการจำนั่นเอง”   
บทบาทของครูต่อผู้เรียนเป็นอย่างไรบ้างคะ  
ครูจะเป็นผู้คอยช่วยเหลือกำกับและดูแล หลักๆก็จะเป็นการถ่ายทอดความรู้ของครูไปสู่นักเรียน เด็กก็จะเรียนรู้จากการสาธิตของครูจากนั้นครูก็จะปล่อยให้เด็กไปลงมือทำหรือเรียนรู้ด้วยตนเองจากสิ่งที่เห็นมาซึ่งเด็กจะลงมือทำและได้เรียนรู้ด้วยตนเองไม่ว่าจะผิดหรือถูกครูจะไม่เข้าไปขัดขวางแต่ครูจะมาแก้ไขข้อผิดพลาดของเด็กในภายหลัง”   
บทบาทของนักเรียนในชั้นเรียนเป็นอย่างไรบ้างคะ  
เด็กนักเรียนจะเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างมีอิสระในการเรียนรู้ เด็กสามารถใช้อุปกรณ์ในการเรียนรู้ในวิชาใดก็ได้ เด็กจะมีการบริหารและควบคุมตนเองได้  
บรรยากาศในชั้นเรียนเป็นอย่างไรบ้างคะ   
บรรยากาศในห้องเรียนก็จะประกอบไปด้วยสื่ออุปกรณ์ที่อยู่บนชั้นวาง เมื่อเด็กเข้าแถวเข้าห้องเรียนและทำกิจกรรรมโฮมรูมเสร็จเด็กก็จะมีอิสระในการเรียนรู้ไม่ว่าอยากจะใช้สื่อชนิดใดในการเรียนรู้ก็สามารถเลือกได้ แต่ถ้าเด็กคนใดที่เรียนรู้หรือทำมาหมดแล้วเด็กก็สามารถเรียนรู้ในแบบนามธรรมและสามารถช่วยเหลือตนเองได้   
ขอทราบถึงประสิทธิภาพและความแตกต่างของการใช้วิธีสอนแบบการเรียนรู้ด้วยตนเองกับแบบธรรมดาทั่วไปว่ามีประสิทธิและมีความแตกต่างอย่างไรบ้างคะ  
การเรียนรู้ด้วยตนเองจะทำให้เด็กช่วยเหลือตัวเองได้ เด็กจะมีความรู้ที่ยั่งยืนเพราะเด็กได้ทำอะไรด้วยตนเองได้เห็นเองได้คิดเอง แต่ถ้าครูเป็นผู้บอก บอกครู่เดียวเด็กก็อาจจะจำแค่ชั่วโมงนี้แต่พอไปถามอีกทีความรู้ที่ครูบอกอาจจะลบเลือนไปแล้ว
จากการสัมภาษณ์คุณครูทั้ง ๒ ท่าน ซึ่งเป็นผู้ใช้วิธีการสอนทั้ง ๓ ในการจัดการชั้นเรียนในชั้นเรียนของตนเองทำให้ทราบว่า  วิธีการสอนแบบสาธิต(Demonstration)  เป็นการจัดการเรียนรู้โดยการเน้นวิธีการสอนแบบการสาธิต ทำให้ดูเพื่อเป็นตัวอย่างและแนวทาง เป็นวิธีการสอนที่เหมาะสมกับบทเรียนที่ต้องลงมือปฏิบัติจริง และเป็นวิธีการสอนที่ทำให้นักเรียนเข้าใจ สามารถเห็นภาพในสิ่งที่ครูหรืออาจารย์ถ่ายทอดออกมาได้โดยง่าย  วิธีสอนโดยใช้การแสดงละคร(Dramatization)  เป็นวิธีการสอนที่ผู้เรียนได้มีบทบาทในการเรียนรู้ได้เห็นกับตาและลงมือปฏิบัติจริง ในการแสดงละคร ซึ่งครูจะมีการเตรียมการล่วงหน้า และตอนสุดท้ายจะมีการอภิปรายร่วมกันเพื่อสรุปเรื่อง ช่วยให้เข้าใจเนื้อเรื่องและจดจำเรื่องราวได้ดี และยังฝึกการทำงานเป็นกลุ่ม ฝึกจิตนาการ ความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย  วิธีการสอนโดยการเรียนรู้ด้วยตนเอง(Self Study)  เป็นวิธีการที่ทำให้ผู้เรียนสามารถช่วยเหลือตนเองได้ สามารถรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองกระทำและพึงต้องกระทำ เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ผ่านความสนใจของตนเองเป็นหลัก  โดยสิ่งที่ได้เรียนรู้นั้นผู้เรียนสามารถนำไปต่อยอดในการศึกษาและการใช้ชีวิตในอนาคตภายภาคหน้าได้
สื่ออุปกรณ์เครื่องครัวที่ใช้ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง
การเรียนรู้ด้วยตนเอง










      การสัมภาษณ์การจัดการเรียนรู้ด้วยตนเอง


       นอกจากวิธีการสอนทั้ง ๓ วิธีที่ได้กล่าวมาข้างต้นยังมีวิธีการสอนอีกมากมายที่ผู้สอนสามารถนำไปบูรณาการและปรับใช้ในชั้นเรียนเพื่อให้สอดคล้องและเท่าทันผู้เรียนในยุคโลกาภิวัตน์ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมของแต่ละสภาพชั้นเรียนและเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน ทั้งนี้การนำวิธีการสอนต่างๆมาใช้ในแต่ละชั้นเรียนยังเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเอาใจใส่ของผู้สอนที่มีต่อผู้เรียนเพื่อให้ผู้เรียนทุกคนสามารถเข้าถึงเนื้อหาบทเรียนได้อย่างทั่วถึง  รวมไปถึงเป็นการบ่งบอกถึงวิสัยทัศน์ของผู้สอนที่มีต่อวิชาชีพด้วยเช่นกัน
                                                                                






                                                         คณะผู้จัดทำ

                                                นางสาวจุฑามาศ  สินไชย     รหัสนักศึกษา ๕๙๑๕๑๐๕๐๐๑๑๐๔
                                                นางสาวธิติมา  รังศรี              รหัสนักศึกษา ๕๙๑๕๑๐๕๐๐๑๑๐๕
                                                นางสาวบุษรา  นวลวัฒน์       รหัสนักศึกษา ๕๙๑๕๑๐๕๐๐๑๑๐๘
                                                นางสาวปัทมาพร  นิลละออ   รหัสนักศึกษา ๕๙๑๕๑๐๕๐๐๑๑๐๙
                                                นางสาวปาริชาติ  เมืองนุ้ย     รหัสนักศึกษา ๕๙๑๕๑๐๕๐๐๑๑๑๐
                                                นางสาวพิชญา  ปิติ               รหัสนักศึกษา ๕๙๑๕๑๐๕๐๐๑๑๑๓

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

                                            การศึกษาก้าวไกลสู่เส้นชัยยุคโลกาภิวัตน์ -----------------------------------------------------...